ความเป็นมาหรืออาจเรียกว่า พัฒนาการปกครองท้องถิ่นของไทยจัดลำดับขั้นตอนของการพัฒนาการได้เป็นลำดับดังนี้ (เอกสารเผยแพร่ ความรู้ทางการปกครองท้องถิ่น, 2541 : 7-8)
พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำริให้ทดลองจัดตั้ง หน่วยการปกครองแบบใหม่ในระดับท้องถิ่น เรียกว่า “สุขาภิบาลกรุงเทพ” การจัดตั้งครั้งนั้นเกิดจากรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสยุโรปและประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษหลายครั้ง และได้ทรงทอดพระเนตรบทบาทของหน่วยงานท้องถิ่นในการดูแลท้องถิ่นของตนเอง
ในการจัดตั้งสุขาภิบาลเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ หน้าที่สำคัญของหน่วยปกครองดังกล่าว คือ การรักษาความสะอาดในชุมชนของตน การบูรณะและการจัดสร้างสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในชุมชน เช่น ถนน ไฟ ตามเส้นทางสวนสาธารณะ สนามกีฬา ฯลฯ สุขาภิบาลกรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นการปกครองท้องถิ่นโดยข้าราชการประจำ ( Local Government by Government Official )
พ.ศ. 2448 เกิดสุขาภิบาลท่าฉลอม เมืองสมุทรสาคร
พ.ศ. 2451 มีการจัดตั้งสุขาภิบาลในหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ สุขาภิบาลเหล่านี้ล้วนมีกรรมการเป็นข้าราชการประจำทั้งสิ้น และได้เกิดพระราชบัญญัติสุขาภิบาลขึ้น โดยแบ่งสุขาภิบาลเป็น 2 ประเภท คือ สุขาภิบาลเมือง มีกรรมการ 11 คน และสุขาภิบาลตำบล มีกรรมการ 5 คน ทั้งสองประเภทนี้มีองค์กรทำงานชุดเดียว คือ คณะกรรมการสุขาภิบาล ซึ่งทำหน้าที่ทั้งด้านนิติบัญญัติและบริหาร โดยกรรมการทั้งหมดล้วนเป็นข้าราชการส่วนภูมิภาค
พ.ศ. 2453-2468 รัชกาลที่ 6 ทรงทดลองจัดตั้งสภาประชาธิปไตยในระดับชาติ เรียกว่า “ดุสิตธานี” และสร้างขบวนการลูกเสือ แม้ว่าสุขาภิบาลจะไม่ถูกยกเลิกแต่เมื่อไม่ได้รับการส่งเสริมจากระดับบน จึงส่งผลให้สุขาภิบาลอยู่ในสภาพอยู่กับที่ ทำให้จำนวนสุขาภิบาล คือ 55 แห่งทั่วประเทศไม่เพิ่มขึ้น และไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อปรับปรุงหรือจัดตั้งการปกครองท้องถิ่นแบบอื่น ๆ ขึ้นอีก
พ.ศ. 2448 รัชกาลที่ 7 ทรงตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง ทำการศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศ เรียกว่า คณะกรรมการจัดการประชาภิบาล นำโดยที่ปรึกษาชาวต่างประเทศชื่อ Richard D. Craig ผลการศึกษาพบว่า ควรจัดตั้งเทศบาลขึ้นมา
พ.ศ. 2473 ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลได้รับการพิจารณาในสภาเสนาบดี เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2473 สภาเสนาบดีเห็นชอบในหลักการ และให้กรมร่างกฎหมายพิจารณาหลักการในร่างกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน แต่ก็ยังไม่มีการนำออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายจนเกิดเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 สาเหตุที่รัชกาลที่ 7 ทรงเตรียมจัดตั้งเทศบาล เพราะทรงเห็นว่าประชาชนชาวไทยควรจะได้ฝึกฝนควบคุมกิจการของท้องถิ่นด้วยตนเอง ก่อนที่พวกเขาจะควบคุมกิจการของรัฐในระหว่างสภาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
พ.ศ. 2478 รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ต่างประเทศว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าประชาชนควรจะมีสิทธิมีเสียงในกิจการของท้องถิ่น…. ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการผิดพลาด ถ้าเราจะมีการปกครองระบอบรัฐสภาก่อนที่ประชาชนจะมีโอกาสเรียนรู้และมีประสบการณ์อย่างดี เกี่ยวกับการใช้สิทธิเลือกตั้งในกิจการปกครองท้องถิ่น”
พ.ศ. 2478 รัฐบาลของคณะราษฎรมีนโยบายชัดเจนที่จะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้วยการสถาปนาหน่วยการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น เช่น ในประเทศตะวันตก รัฐบาลได้ผ่านพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล 3 แบบ คือ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล เริ่มต้นที่ยกฐานะสุขาภิบาล 35 แห่ง ที่มีอยู่ขึ้นเป็นเทศบาลแล้วจัดตั้งเพิ่มเติม รัฐบาลของคณะราษฎรมุ่งหมายที่จะพัฒนาการปกครองท้องถิ่นเพียงรูปแบบเดียว คือ เทศบาล ขณะนั้นมีตำบลทั่วประเทศ รวม 4,800 ตำบล รัฐบาลหวังที่จะยกฐานะทุกตำบลให้เป็นเทศบาล
เทศบาลตามกฎหมายในปี 2476 แบ่งออกเป็น 2 องค์กร คือ สภาเทศบาล และคณะรัฐมนตรี ฝ่ายแรกทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในเขตเทศบาลนั้น เทศบาลนครมีสมาชิก 24 คน เทศบาลเมืองมีสมาชิก 18 คน และเทศบาลตำบลมีสมาชิก 12 คน
ส่วนคณะเทศมนตรีทำหน้าที่ด้านบริหาร คณะเทศมนตรีประกอบด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งมาจากสมาชิกเทศบาล เทศบาลนครมีนายกเทศมนตรี 1 คน เทศมนตรี 4 คน ส่วนเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบลมีนายกเทศมนตรี 1 คน และเทศมนตรี 2 คน ทั้งสภาเทศบาลและคณะรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งสมัยละ 5 ปี
พ.ศ. 2488 เทศบาลทั่วประเทศมีเพียง 117 แห่ง เทศบาสลอันดับที่ 117 ก่อตั้งในปี 2488 หลังจากนั้นก็ไม่มีการก่อตั้งเทศบาลขึ้นอีก ทั้งนี้เพราะมีงบประมาณจำกัด อำนาจจำกัดและกรปกครองท้องถิ่นระบบเทศบาลไม่เหมาะสมกับสังคมที่ประชาชนขาดความรู้และความสนใจในเรื่องการปกครองท้องถิ่น
พ.ศ. 2495 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เดินทางไปดูงานในต่างประเทศ และมองเห็นบทบาทของการปกครองท้องถิ่นในประเทศ ขณะที่มองเห็นว่าหน่วยการปกครองท้องถิ่นของไทยมีน้อยเกินไป และจำกัดอยู่แต่เพียงเขตชุมชนเมืองสมควรที่จะสถาปนาการปกครองท้องถิ่นในเขตนอกเมือง จึงตัดสินใจนำการปกครองท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาลมาใช้อีกครั้ง โดยหวังว่าการจัดตั้งสุขาภิบาลจะเป็นตัวเร่งในการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อยกฐานะท้องถิ่นที่เจริญให้เป็นเทศบาลให้มากขึ้น จึงมีการจัดตั้งสุขาภิบาลอีกครั้งในปี พ.ศ. 2495 โดย พ.ร.บ. สุขาภิบาล พ.ศ. 2495 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของท้องถิ่นที่จะเป็นสุขาภิบาลมีดังนี้ คือ เป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอให้จัดตั้งเป็นสุขาภิบาลได้เลย และหากเป็นชุมชนที่มีตลาดการค้าอย่างน้อย 100 ห้อง มีราษฎรอย่างน้อย 1,500 คน และพื้นที่ของเขตสุขาภิบาลควรมีขนาด 1 ถึง 4 ตรารางกิโลเมตร
ส่วนกรรมการบริหารสุขาภิบาลประกอบด้วยบุคคลถึง 3 ประเภท คือกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการโดยการแต่งตั้ง และกรรมการที่ประชาชนเลือกตั้ง ให้นายอำเภอในท้องที่นั้นเป็นประธานคณะกรรมการสุขาภิบาล และให้ปลัดอำเภอคนหนึ่งเป็นปลัดสุขาภิบาล
พ.ศ. 2498 รัฐบาลจอมพล ป. ได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด จัดตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ดำเนินการปกครองท้องถิ่นนอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาล โดยรัฐบาลยังคงแต่งตั้งข้าราชการประจำไปควบคุมการปกครองท้องถิ่นในระดับจังหวัด
อบจ. ประกอบด้วยสภาจังหวัด ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติกำหนดนโยบายการบริหารและควบคุมฝ่ายบริหาร สภาจังหวัดประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในการเลือกตั้งของประชาชนในแต่ละจังหวัดเรียกว่า สมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) สภาจังหวัดมีสมาชิกระหว่าง 18-36 คน ขึ้นอยู่กับจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้นและอยู่ในวาระ 5 ปี
ส่วนฝ่ายบริหารของ อบจ. จะมีหัวหน้าคือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด และยังมีปลัด อบจ. ซึ่งก็คือ ปลัดจังหวัด และข้าราชการประจำคนอื่น ๆ ที่เข้ามาทำงานใน อบจ.
พ.ศ. 2499 รัฐบาลจอมพล ป. ได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนตำบล กำหนดให้ตำบลมีฐานะเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่น มีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีรายได้ รายจ่ายของตนเอง และสามารถดำเนินกิจการส่วนตำบลได้อย่างอิสระ แต่แล้ว อบต. ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับ อบจ. นั่นคือ แต่งตั้งคนของรัฐได้แก่ กำนันและผู้ใหญ่บ้านเข้าไปควบคุมดูแล อบต.
อบต. แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สภาตำบล ประกอบด้วยกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นสมาชิกสภาตำบลโดยตำแหน่ง มีสมาชิกที่ราษฎรแต่ละหมู่บ้านเลือกตั้ง หมู่บ้านละ 1 คน สภาตำบลทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ ส่วนคณะกรรมการตำบลให้กำนันในตำบลนั้นเป็นประธานโดยตำแหน่ง และยังมีแพทย์ประจำตำบลและผู้ใหญ่บ้านเป็นกรรมการ ครูและผู้ทรงคุณวุฒิที่นายอำเภอแต่งตั้งไม่เกิน 5 คน ทั้งหมดอยู่ในวาระ 5 ปี
พ.ศ. 2509 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ปรับปรุงองค์การบริหารส่วนตำบลใหม่ โดยยกเลิกองค์การปกครองท้องถิ่นในระดับตำบลด้วยการยุบ อบต. และตั้งคณะกรรมการสภาตำบลขึ้นแทน โดยคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย
- กรรมการโดยตำแหน่ง คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบล
- กรรมการโดยการแต่งตั้ง คือ ครู ซึ่งนายอำเภอแต่งตั้ง
- กรรมการโดยการเลือกตั้ง คือ ราษฎรจากหมู่บ้านละ 1 คน
จุดต่างสำคัญระหว่างคณะกรรมการสภาตำบล กับ อบต. เดิม สภาตำบลไม่มีฐานะนิติบุคคลอีกต่อไป แต่เป็นองค์กรที่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายและเห็นชอบโครงการพัฒนาตำบล คณะกรรมการสภาตำบลจึงกลายเป็นรูปลักษณ์หนึ่งของการบริหารงานส่วนภูมิภาค
พ.ศ. 2515 มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 รวมเทศบาลกรุงเทพกับเทศบาลกรุงธนบุรี และองค์การปกครองท้องถิ่นอื่น ๆ เข้าด้วยกันกลายเป็น “กรุงเทพมหานคร”
(กทม.) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการแต่งตั้งในระยะเริ่มต้น ลักษณะองค์การของ กทม. คือ มีสภา กทม. ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งเขตละ 1 คน และมีฝ่ายบริหารคือผู้ว่า กทม. ทั้งหมดอยู่ในวาระ 4 ปี
พ.ศ. 2521 มีการตราพระราชบัญญัติเมืองพัทยา กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้เมืองพัทยามีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นองค์การปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ที่คล้ายกับระบบผู้จัดการเมืองในสหรัฐอเมริกา การบริหารเมืองพัทยาแบ่งเป็น 2 องค์การ คือ สภาเมืองพัทยา และฝ่ายบริหารสภาเมืองพัทยา มีสมาชิก 2 ประเภท คือ ประเภทเลือกตั้ง
ราษฎร 9 คน และประเภทแต่งตั้ง 8 คน ประธานสภาเมืองพัทยาเรียกว่า
“นายกเมืองพัทยา” มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาฯ ส่วนฝ่ายบริหารคือ ปลัดเมืองพัทยา มาจากการแต่งตั้งโดยสภาเมืองพัทยา
พ.ศ. 2528 มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครโดยตรงจากประชาชนเป็นครั้ง
แรก
พ.ศ. 2535-2539 พรรคการเมือง 5 พรรค เสนอนโยบายหาเสียงว่าจะกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น
และมีพรรคการเมือง 4 พรรค ที่เสนอนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
สังคมไทยได้เกิดการตื่นตัวในนโยบายการปรับปรุงการปกครองท้องถิ่นอย่างไม่
เคยมีมาก่อน และเพื่อเป็นการลดกระแสเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการสำคัญ 5 ประการ คือ
1. พิจารณาปรับปรุง อบจ. ด้วยการให้นายก อบจ. มาจาก สจ. ไม่ให้ผู้ว่าฯ เป็น
นายก อบจ. อีกต่อไป
2. กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งสตรีเป็นปลัดอำเภอได้ตั้งแต่ปลายปี 2536 หลังที่
ข้าราชการสูงของกระทรวงนี้ได้คัดค้านมาตลอด
3. กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งสตรีเป็นผู้ว่าฯ คนแรกในเดือนมกราคม 2537
4. รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลผ่านสภาใน
เดือนพฤศจิกายน 2537 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2538 เป็นต้นไป
5. กระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งสตรีเป็นนายอำเภอคนแรกในเดือนมกราคม 2539
พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ปี 2537 มีสาระสำคัญ คือ มีการแบ่งตำบลเป็น 2 ประเภท คือ
ก. สภาตำบลที่มีอยู่ในทุกตำบล ประกอบด้วยสมาชิกคือ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน
ทุกหมู่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งหมู่บ้านละ 1 คน ส่วนเลขานุการ ได้แก่ข้าราชการที่ทำงานในตำบลนั้นแต่งตั้งโดยนายอำเภอ
ข. สภาตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมา
ติดต่อกัน 3 ปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 1.5 แสนบาท ก็ให้ตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ประเภทนี้มีการแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ
- ฝ่ายนิติบัญญัติ เรียกว่า สภาองค์การบริหารส่วนตำบล (สภาองค์การฯ)
กรรมการได้แก่ กำนันและผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน แพทย์ประจำตำบลและ
สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งหมู่บ้านละ 2 คน
- ฝ่ายบริหาร เรียกว่า คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล
ประกอบด้วยกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ไม่เกิน 2 คน และสมาชิกสภา
องค์การฯ ไม่เกิน 4 คน ซึ่ง 6 คนนี้มาจากการเลือกตั้งของสภาองค์การ
ผลของการออก พ.ร.บ. ดังกล่าวทำให้ตำบลต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีองค์การ
บริหารส่วนตำบล (อบต.) เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2538 รวม 617 แห่งและ
เพิ่มอีก ในปัจจุบันทั้งหมด 6,396 แห่ง
พ.ศ. 2540 มีการออก พ.ร.บ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง
โครงสร้างองค์การบริหารส่วนจังหวัด อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ ซึ่งทำให้
องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีความเป็นองค์การปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัดที่มี
ความสอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจมากที่สุดรูปหนึ่ง เพราะเปิดโอกาส
ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น
พ.ศ. 2541-2542 1. มีการออก พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. สุขาภิบาล พ.ศ. 2495 โดยมีสาระให้ยก
ฐานะสุขาภิบาลทั้งหมดจำนวน 981 แห่ง เป็นเทศบาลตำบล
2. มีการออก พ.ร.บ. เปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ.
2542 มีผลบังคับใช้ 25 พฤษภาคม 2542
3. มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.
2537 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 โดยเฉพาะโครงสร้างสมาชิกสภา
อบต. ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และคณะกรรมการมาจากความเห็นชอบ
ของสภา อบต.
4. มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 โดยการ
เพิ่ม อำนาจหน้าที่ อบจ.
5. มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 และมีการออก พ.ร.บ. เทศบาล(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้เมื่อ 11 มีนาคม 2542 และ พ.ร.บ. เทศบาล (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2543 ให้เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรงหลังจากครบวาระ ของสมาชิกสภาเทศบาล
6. มีการออก พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา 2542 โดยให้ สมาชิกสภาเมืองพัทยามาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน กับให้มีนายกเมืองพัทยามาจากการเลือกตั้ง
พ.ศ. 2543 มีกฎหมายที่กำหนดทิศทางขององค์กรปกครองท้องถิ่น ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย ได้แก่
1. พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้วันที่ 18 พฤศจิกายน 2542
2. พ.ร.บ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้วันที่ 30 พฤศจิกายน 2542
3. พ.ร.บ. ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ 27 ตุลาคม 2543
4. พ.ร.บ. ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้วันที่ 27 ตุลาคม 2542
พ.ศ. 2545 มีพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545
พ.ศ. 2546 มีการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.
2546 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2546 มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ
ตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 23 ธันวาคม 2546 สาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวนี้ เป็นการกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่น(นายก อบจ. นายก อบต. และนายกเทศมนตรี) มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในแต่ละท้องถิ่น
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น